จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ชวนนักท่องเที่ยว
สัมผัสมนต์เสน่ห์ด้านอาหารและการท่องเที่ยวหลังการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์
กรุงเทพฯ - 13 มกราคม 2566 สำนักงานการบูรณะประเทศญี่ปุ่น หรือ Reconstruction Agency, Japan จัดอีเวนต์ GENKI! FUKUSHIMA ระหว่างวันศุกร์ที่ 13 - อาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566 ณ เซ็นทรัลเวิลด์ โซน Central Court หน้าลิฟต์แก้วชั้น G เพื่อให้ชาวไทยทุกท่านได้ทำความรู้จักและเชิญชวนทุกท่านเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดฟุกุชิมะ เพื่อสัมผัสกับ "มนต์เสน่ห์ด้านอาหาร" และ "มนต์เสน่ห์ด้านการท่องเที่ยว" ของจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมที่โด่งดังและเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์มากมายหลังมาตรการฟื้นฟูจังหวัดฟุกุชิมะจากแผ่นดินไหวใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2554
โดยในงานนี้มีการจัดนิทรรศการและกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวมากมาย ทั้งกิจกรรมบนเวที การแสดงดนตรีโคโตะ การออกบูธ และเวิร์กช็อปทำข้าวปั้นโอนิกิริและเวิร์กช็อประบายสีตุ๊กตาล้มลุก รวมทั้งพบปะพูดคุยกับ แพนเค้ก – เขมนิจ จามิกรณ์ นักแสดงสาวชื่อดังของเมืองไทย ที่เคยเป็นอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติดังกล่าว ร่วมพูดคุยบนเวทีถึงประสบการณ์ความประทับใจที่ได้ไปเยือนจังหวัดฟุกุชิมะ
มร.ยูอิจิ โอบะ อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งในฐานะคนที่เกิดและเติบโตในอำเภออิวากิจากจังหวัดฟุกุชิมะ และได้มายืนอยู่ในงาน ‘GENKI! FUKUSHIMA’ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ในกรุงเทพฯ แห่งนี้ เพื่อถ่ายทอดเสน่ห์ของอาหารการกินและการท่องเที่ยวของจังหวัดฟุกุชิมะให้ชาวไทยทุกท่านได้รับรู้ แม้ว่าจังหวัดฟุกุชิมะเคยได้รับความเสียหายใหญ่หลวงจากแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ และภัยพิบัตินิวเคลียร์อันเป็นผลจากแผ่นดินไหวใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นในพ.ศ. 2554 ครั้งที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยนั้น ญี่ปุ่นและไทยได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงสายใยและมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศของชาวญี่ปุ่นและชาวไทย เป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อนแท้ คือเพื่อนในยามยากโดยแท้
ผ่านไป 11 ปีแล้วนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนั้น ผมได้ไปเยือนจังหวัดฟุกุชิมะเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีก่อน หลังจากไม่ได้ไปมา 2 ปี ได้เห็นความคืบหน้าในการฟื้นฟูของจังหวัดฟุกุชิมะอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ปัจจุบันจังหวัดฟุกุชิมะยังคงได้รับผลกระทบจากข่าวลือที่ฝังแน่นอยู่ในความคิดของผู้คน การจัดอีเวนต์ครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ชาวไทยทุกท่านได้เข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการฟื้นฟูจังหวัดฟุกุชิมะ ตลอดจนเสน่ห์ของอาหารการกินและการท่องเที่ยวของจังหวัด”
ทั้งนี้ จังหวัดฟุกุชิมะเป็นแหล่งปลูกผลไม้ขึ้นชื่อและได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง อย่างลูกพีชและแอปเปิ้ล ซึ่งลูกพีชของจังหวัดฟุกุชิมะนั้นทั้งหวาน ชุ่มฉ่ำ และมีรสชาติอร่อย ลูกท้อที่ผลิตในจังหวัดฟุกุชิมะยังครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด และมีเหล้าสาเกที่เคยคว้ารางวัลชนะเลิศมามากที่สุดจากงานประกวดในประเทศญี่ปุ่น จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “อาณาจักรแห่งผลไม้” นอกจากนี้จังหวัดฟุกุชิมะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่จะได้สัมผัสธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และประวัติศาสตร์อันยาวนานอยู่มากมาย อาทิ ปราสาทสึรุกะ (Tsuruga Castle) หรือปราสาทไอสึวากามัตสึ ปราสาทเก่าแก่ที่มีความสวยงามคล้ายนกกระเรียน, สถานีแมวขี้อ้อนน่ารักในเมืองไอสึวากามัตสึ (Ashinomaki-Onsen) ซึ่งจะมีนายสถานีแมวเป็นผู้ดูแลและคอยต้อนรับแขกที่มาเยือน ที่ถูกใจบรรดาทาสแมวแน่นอน, ทะเลสาบอินาวาชิโระ (Lake Inawashiro) ทะเลสาบที่มองเห็นเงาสะท้อนเหมือนกระจกเงา หรือรอชมฝูงหงส์อพยพมารวมตัวกันในฤดูหนาว, จุดชมวิวสะพานข้ามแม่น้ำทาดามิหมายเลข 1 (No.1 Tadami River Bridge Viewpoint) เป็นจุดชมวิวบนเขาที่สวยงามที่สุดของฟุกุชิมะ ชมรถไฟแล่นผ่านสะพานข้ามแม่น้ำที่โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ทุกฤดูกาล แล้วไปสักการะขอพรที่วัดต้นกำเนิดวัวแดงอากาเบโกะ มาสคอตประจำเมืองไอสึวากามัตสึ (Enzoji Temple) วัดนิกายรินไซที่ตั้งอยู่บนเนินเขาวัดประจำคนเกิดปีขาลและปีฉลู สุดท้ายอย่าพลาดการนั่งรถไฟที่เป็นดั่งคาเฟ่ขนมหวาน (Fruitea Fukushima) รถไฟแสนสวยที่พกความอร่อยละมุนลิ้นมาให้กับผู้โดยสารได้ชิมขนมที่นำผลไม้ขึ้นชื่อของเมืองมาเป็นส่วนผสมไปพร้อมๆ กับชมธรรมชาติอันงดงามของจังหวัดฟุกุชิมะตลอดการเดินทาง
สำหรับงานอีเวนต์ในครั้งนี้ นอกเหนือจากการออกบูธเกี่ยวกับลูกพีช เหล้าสาเก และการท่องเที่ยวของจังหวัดฟุกุชิมะแล้ว ยังมีการไลฟ์สดจากแหล่งท่องเที่ยวในฟุกุชิมะมาที่อีเวนต์นี้ด้วย เพื่อให้ทุกท่านได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของจังหวัดฟุกุชิมะเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปเยือนฟุกุชิมะในอนาคตอันใกล้
ผู้สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับจังหวัดฟุกุชิมะและเตรียมข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมสำหรับการไปเยือนฟุกุชิมะให้มากขึ้นได้ที่เว็บไซต์ออฟฟิเชียล: https://genki-fukushima.jp
|